The new Macintoshes

วันนี้สำนักข่าวทุกสำนักในโลกพร้อมใจกันเล่นข่าวการเปิดตัวเครื่อง Mac รุ่นใหม่
ที่ใช้โปรเซสเซอร์ Intel Core Duo คือ MacBook Pro กับ iMac

หลังจากที่ร่ำลือ ฮือฮา ก่นด่าของเหล่าสาวกแม็คและพวกที่เกลียดอินเทลมาเป็นเวลานาน
ประมาณว่าจะเปลี่ยนทำไม ใช้โปรเซสเซอร์ PowerPC ของโมโตโรล่าอย่างเดิมก็ดีอยู่แล้ว
เพราะเร็วและไม่เหมือนใคร

แต่พอปล่อยของออกมาให้เห็นตัวเป็นๆ แล้ว ก็ดูเหมือนหลายฝ่ายจะพอใจ (ที่แน่ๆ สตีฟ จ๊อบส์ก็ต้องพอใจ)
งานนี้แม้แต่บิดาของ Java อย่าง James Gosling ยังออกปากชมว่า “Great Job!”
เพราะการพอร์ตโปรแกรมจาวาไปบน IntelMac นี้ จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด (NetBeans ยังทำงานได้ดีเหมือนเดิม)

รายละเอียดลึกๆ ผมคงบรรยายได้ไม่ละเอียด และไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้มาก เพราะยังไม่มีปัญญาซื้อใช้ (กำลังเก็บตังส์)
บอกได้คร่าวๆ แค่ว่า MacBook Pro ที่่ออกมาใหม่นี้ ถึงจะดูหน้าตาเหมือนกับ PowerBook
แต่สเป็คก็สูงกว่า PowerBook G4 แบบเหนือกว่าเกือบทุกด้าน ในราคาที่เท่ากัน! (แถมจอเป็น wide screen ด้วย)
แบบนี้เดาได้ว่า PowerBook คงค่อยๆ ตายไปช้าๆ ภายในปีสองปีนี้หรือจนกว่าของหมดสต๊อค
สตีฟ จ๊อปส์คุยว่า MacBook เร็วกว่า PowerBook 4 เท่า ส่วน iMac ก็เร็วขึ้นกว่ารุ่นเดิม 2 เท่า

นอกจากนี้ยังมีซอฟท์แวร์เวอร์ชั่นใหม่อีกสองตัวคือ iLife ’06 กัีบ iWork ’06
และอุปกรณ์เสริมใหม่ของ iPod คือ iPod Radio Remote

ที่มาApple Hot News

Sun Tech Day in Bangkok

อ่านดูที่ภาพกันเลยละกัน ชัดๆ สั้น ได้ใจความ

ชาวบ้านในวงการส่วนใหญ่คงรู้กันเกือบหมดแล้ว แต่อยากจะบอกด้วยอีกคน
งานนี้เจ้าพ่อ Java อย่าง James Gosling ก็ว่าจะมาร่วมด้วย น่าตื่นเต้นมั้ยล่ะ

นอกจาก Sun Tech Days แล้วเค้ายังมี Bonus อีกวันนึงถัดมาด้วยครับ

คือวันที่ 26 มกราคม เป็น NetBeans กับ Solaris Day แต่ย้ายไปจัดที่โรงแรมคอนราด แทน
อ่าน Agenda ของแต่ละวันแล้วอยากไปสุดๆ
เสียดายจัดวันธรรมดา แถมเป็นช่วงที่ไม่มีโอกาสลาหยุดได้ซะด้วย
เพราะหนึ่งในลูกน้องมันดันชิงลากลับไปรับปริญญาที่เชียงใหม่ซะก่อน
จริงๆ น่าจะเปิดตัว NetBeans IDE 5.0 พร้อมกันไปเลย
ตอนนี้มันยังเป็น beta 2 อยู่ ไม่รู้งานนี้ตัว final จะเปิดตัวพร้อมกันไปเลยรึเปล่า

ที่มาSun Developer Network

Apache Geronimo 1.0 released

ข่าวเก่าตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว ว่าจะเอามาแปะก็มัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่งอยู่นาน

Apache Software Foundation ผู้ที่ทำให้วงการโอเพ่นซอร์สคึกคักที่สุดเจ้านึง
ได้ฤกษ์ปล่อย Application Server ที่ซุ่มพัฒนามานานราวสองปีครึ่งเห็นจะได้
หลังจากผ่าน J2EE 1.4 Certified มาตั้งแต่รุ่น M5

Apache Geronimo เป็น J2EE Server แบบเดียวกับ JBoss ที่ได้รับความนิยมในระดับหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว
ถ้าใครติดตามข่าวมาบ้างคงเห็นว่า IBM เคยแจก WebSphere Community Edition ฟรีเมื่อประมาณตุลาคม 2548
ซึ่งใช้พื้นฐานโค้ดจาก Geronimo นี่เอง แสดงว่าโปรเจ็คนี้ก็ไม่ธรรมดา

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าโปรเจ็คโอเพ่นซอร์สส่วนมากมีจุดอ่อนเรื่องเอกสาร ดูได้จากโปรเจ็คหลายๆ ตัวที่ SourceForge.Net
ที่มักไม่ค่อยมีเอกสารประกอบเท่าไหร่นัก (ตอนนี้โปรเจ็คที่พัฒนาด้วย Java มีจำนวนมากเป็นอันดับ 1
แซงหน้า C/C++ แล้ว หลังจากสูสีกันอยู่พักใหญ่)
แต่ Apache มีจุดเด่นเรื่องนี้ทำให้ผลิตภัณฑ์หลายๆ ตัวได้รับความนิยมและยอมรับอย่างมาก

ความสามารถคร่าวๆ ไปดูได้ที่ Apache Geronimo Features ครับ
ใครอยากลองเล่นก็ลองไปโหลดเอาได้เลย
มีให้เลือกสองแบบว่าจะใช้ Web Container ตัวไหนระหว่าง Tomcat กับ Jetty

ออกเวอร์ชั่น 1.0 ตัวเต็มมาแบบนี้ JBoss ก็คงหนาวๆ ร้อนๆ อยู่เหมือนกัน
เดี๋ยวต้องลองศึกษาดูซะหน่อย ทุกวันนี้ใช้อยู่แต่ WebLogic

ที่มา – News.com

ปล. สมัยเรียนกลุ่มเราชอบโลโก้ขนนกของ Apache กันมาก น้องคนนึงตัดสติ๊กเกอร์อันเบ้อเริ่มติดหน้ารถ
ไม่รู้เดี๋ยวนี้เอาออกไปรึยัง เขียนถึงแล้วก็คิดถึงกันเลยแฮะ

Office Space เด็ดหัวเจ้านายจอมเฮี้ยว

สองสามวันที่แล้ว อยู่ว่างๆ เลยหยิบหนังสุดรักเรื่องนี้ขึ้นมาดูอีกเป็นรอบที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้แล้ว

ขอแนะนำให้หามาดูกันครับ ผมยัดเยียดหนังเรื่องนี้ให้เพื่อนหลายๆ คนดู แต่ไม่มีฟีดแบ็คเลยไม่รู้ว่าเค้าชอบกันบ้างรึเปล่า
แต่ตัวเองชอบมาก เลยพาลคิดไปว่ามนุษย์เงินเดือน,หนุ่มออฟฟิศ และโดยเฉพาะคนแวดวงคอมพิวเตอร์น่าจะชอบหนังเรื่องนี้

Office Space หรือในชื่อไทยว่า “เด็ดหัวเจ้านายจอมเฮี้ยว” เป็นหนังปี 1999
ของผู้กำกับไมค์ จัดจ์ ที่เคยทำการ์ตูนบ้าๆ บอๆ อย่าง Beavis and Butt-Head (คนดู MTV สมัยก่อนคงคุ้นๆ บ้าง)

หนังแสดงถึงชีวิตมนุษย์เงินเดือนในบริษัทซอฟท์แวร์แห่งหนึ่ง
แค่ฉากเปิดเรื่องก็ฮาแล้ว ใครเคยได้ยินเรื่อง กฏของเมอร์ฟี่ (Murphy’s Law) ข้อนึงที่ว่า
“เวลาเจอรถติด รถเลนข้างๆ มักเคลื่อนตัวได้ดีกว่าเลนของเรา” เรื่องนี้ได้เห็นภาพเลย

ตัวเอก 3 คนในเรื่องต่างมีปัญหากันคนละแบบ พระเอกปีเตอร์ กิบบอนส์เบื่อหน่ายงานสุดๆ
(ทำพลาดหนเดียว โดนเจ้านายเฉ่งซ้ำๆ กัน 8 รอบ เพราะมีหัวหน้า 8 คนตามโครงสร้างขององค์กรขนาดใหญ่)
หนุ่มฮิปฮอป ไมเคิล โบลตันเบื่อที่ใครๆ ที่เพิ่งรู้จัก ก็ต้องพากันถามว่าเป็นอะไรกันกับนักร้องชื่อดังคนนั้น
(นึกถึงมุขเรื่องชื่อริกกี้ มาร์ตินในเรื่อง Cellular)
หนุ่มเชื้อสายอินเดีย ซาเมียร์ นากีนากา..เอ่อ..อะไรซักอย่างเนี่ยแหละ เซ็งที่ใครๆ ก็ออกเสียงนามสกุลเค้าไม่ถูก
(ข้อมูลใน IMBD เขียนว่า Samir Nagheenanajar…มันก็น่าอยู่หรอกนะ)

เรื่องวุ่นๆ เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อบริษัทมีแผนจะลดขนาดองค์การ
มีการจ้างที่ปรึกษามาสัมภาษณ์พนักงาน เพื่อดูว่าจะปลดใครทิ้งได้บ้าง

เมื่อมีคนในกลุ่มจะถูกปลด แต่ปีเตอร์ดันจะได้เลื่อนเป็นผู้จัดการ
ทั้งๆ ที่ทำตัวเหลวไหลได้สะใจคนดูสุดๆ หลังจากที่ไปสะกดจิตให้หายเบื่องานมาก่อนหน้านี้
(ฉากที่ไปสะกดจิต กับเหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นต้นมา ฮาสุดๆ ครับ)

ทั้งสามคนวางแผนแก้แค้นบริษัทโดยจะปล่อยไวรัสไปดูดเงินเศษเสี้ยวของจุดทศนิยม
ที่ต้องปัดทิ้งทางบัญชีมาเข้ากระเป๋าตัวเอง
โดยคิดว่าภายใน 2 ปีเค้าจะได้เงินกันเป็นแสนโดยไม่มีใครจับได้

หลังจากนั้นจะเป็นยังไงก็ต้องดูกันเองก็แล้วกันนะ

ส่วนมากมุขจะเป็นแบบบทสนทนา ใครชอบหนังตลกเจ็บตัวก็อาจจะไม่ขำเท่าไหร่
ฉากที่ชอบที่สุดก็คือตอนปฏิบัติการส่งมอบไวรัส กับฉากล้างแค้น printer
ขำแทบตกเก้าอี้ ต้องดูเองครับ

ผมยังหาซื้อ DVD แผ่นแท้เรื่องนี้ไม่ได้ซักที คงไม่ผลิตมาแล้วมั้ง
เรื่องนี้มีเจนนิเฟอร์ อนิสตัน อดีตหวานใจแบรด พิทท์เป็นนางเอกด้วยนะ

ดูแล้วจะได้สดชื่น ทำให้มีกำลังใจตื่นไปทำงานทุกเช้า

คืนส่งท้ายปีเก่านี้เราจะมีเวลาเพิ่มขึ้น 1 วิ.

นักวิทยาศาสตร์จะปรับเวลาเพิ่มขึ้นอีก 1 วินาทีในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2548 โดยหลังจาก 23:59:59 น.
จะมี 23:59:60 น.ก่อนจะเป็น 0.00.00 น. ในวันที่ 1 มกราคม 2549

เวลาที่เพิ่มมานี้เรียกว่า Leap Second ครับ โปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับ Leap Year มากกว่า
เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการกำหนดวันที่ของแต่ละปี เพิ่งเคยได้ยินเหมือนกันครับ เจ้า Leap Second เนี่ย

ตั้งแต่มีการกำหนด Leap Second ขึ้นมาครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2515 ก็มีการปรับเวลาแบบนี้กันเกือบทุกปี
บางปีก็ปรับกัน 2 ครั้งเลย คือกลางปี (30 มิถุนายน) และปลายปี (31 ธันวาคม)
ดูได้จาก NIST Time Scale Data Archive ครับ

จะเห็นว่าครั้งล่าสุดก็คือวันเดียวกันนี้เมื่อปี 2542 เว้นไปซะนาน ก็ถึงเวลาต้องมาปรับกันอีกรอบ

สาเหตุที่เกิด Leap Second ขึ้นก็เพื่อรักษาความใกล้เคียงกันของมาตรฐานเวลาสากลกับที่ยึดตาม นาฬิกาอะตอม
กับมาตรฐานเวลาทางดาราศาสตร์ ที่ยึดตามอัตราการหมุนของโลก ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละวันตามแรงดึงดูดของดวงจันทร์กับกระแสน้ำ
เทียบกับนาฬิกาอะตอมที่ปัจจุบันนี้เที่ยงตรงขนาดล้านปีก็แทบไม่เพี้ยน จะมีความแตกต่างกันเฉลี่ยปีละประมาณ 0.9 วินาที

คนที่ต้องการเวลาที่เที่ยงตรงขนาดนั้น อ่านจากบทความนาฬิกาในอนาคตอีกล้านปีข้างหน้าในหัวข้อฟิสิกส์ของ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
(ท่านเขียนหนังสือแนวนี้ออกมาหลายเล่ม น่าหามาอ่านมากครับ โดยเฉพาะชุดวิทยาการแห่งอารยะ ของ สนพ.สารคดี)
ก็ได้แก่เหล่านักฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ที่ใช้ทดสอบทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์
นักดาราศาสตร์ที่จับตาดูการเคลื่อนตัวของกาแล็คซี่ นักธรณีวิทยาที่สังเกตการขยับของแผ่นเปลือกโลก ฯลฯ

อย่างเราๆ แค่จะนับถอยหลังกัน (หลังจากเมากันได้ที่) คงไม่สนใจอยู่แล้วมั้ง…

ที่มาNews.com
—-
เพิ่มเติม – มีบทความดีๆ ของคุณพวงร้อยที่เขียนไว้ตั้งแต่ต้นปีเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ที่ วิชาการ.คอม ด้วยครับ