Googbye Telegram ลาก่อนโทรเลข

อ่านข่าวที่ว่า รมว.ไอซีทีย้ำปิดโทรเลขแน่นอน 1 พ.ค.2551 นี้
แล้วเห็นใน twitter มีคนบอกว่าเกิดมายังไม่เคยใช้โทรเลขเลย
ผมจึงไปขุดคุ้ยหากระทู้เก่าแก่ที่เคยโพสตอบไว้ที่พันทิป โต๊ะหว้ากอ ตั้งแต่กลางปี 2548
พอดีเป็นพวกขี้งก เกิดความเสียดายที่เห็นว่าตอบไว้ยืดยาว เลยเซฟเก็บไว้ ขอเอามาฉายซ้ำ

ตอนนั้นมีคนมาถามว่า

ปัจจุบัน โทรเลข ยังมีใช้แพร่หลายไหมครับ แล้วอยากทราบว่า เค้าคิดเงินยังไงหรือครับ
ตามตัวอักษรหรือครับ แล้วทำไมถึงต้องคิดตามตัวอักษรครับ แล้วมีหลักการส่งอย่างไรครับ
แล้วเวลารับ ต้องไปรับที่ไปรษณีย์ หรือเค้ามาส่งให้ที่บ้านครับ
แล้วการติดต่อแบบไหนถึงควรจะใช้โทรเลขครับ
ขอบพระคุณครับ (ถามเยอะไปหน่อย ขออภัยนะครับ)

จากคุณ : SukRamRuay – [ 7 มิ.ย. 48 13:29:18 ]

ก็เลยเอาความรู้เก่าไปตอบไว้ เพราะสมัยหนุ่มๆ ก็คลุกคลีกับ กสท. อยู่หลายปี
แต่ กสท. ก็แปรรูปเป็น บ.ไปรษณีย์ไทย กับ บ.กสท.โทรคมนาคมมา 5-6 ปีแล้ว
ข้อมูลเรื่องค่าธรรมเนียมก็คงเปลี่ยนไปหมด

โทรเลข ยังมีใช้แพร่หลายไหมครับ
ปัจจุบัน (กลางปี 2548) โทรเลขไม่แพร่หลายแล้ว
เมื่อก่อนลูกค้าสำคัญที่ใช้บริการโทรเลขกับไปรษณีย์ก็คือ
ธนาคารครับ เวลาปิดงบบัญชี ต้องส่งยอดให้สำนักงานใหญ่ และต้องระวังมากๆ
ตัวเลขห้ามผิดพลาดเลย เวลาพิมพ์โทรเลขเสร็จ ต้องมี “ทาน” อีกบรรทัดนึงไว้ข้างท้าย

แต่พอธนาคารมีระบบออนไลน์ใช้เอง โทรเลขก็ค่อยๆ ตายไป
ที่ยังพอเห็นอยู่ก็จะเป็นสถาบันการเงินอื่นๆ หรือบริษัทสินเชื่อ ใช้ส่งให้ลูกค้าทราบเพื่อแจ้งให้ชำระหนี้
หรือแจ้งให้ทราบว่าจะดำเนินคดีแล้วนะ โทษฐานที่ผิดนัดชำระ หรือเจตนาหนีหนี้
ซึ่งก็เพื่อเป็นการรับประกันเบื้องต้น ว่าลูกหนี้รับทราบแล้ว
เพราะโทรเลขสำคัญมาก บุรุษไปรษณีย์จะทำเหลวไหลไม่ได้ โอกาสที่ผู้รับไม่ได้รับก็จะน้อยมาก

เค้าคิดเงินยังไงหรือครับ ตามตัวอักษรหรือครับ แล้วทำไมถึงต้องคิดตามตัวอักษรครับ
คิดเป็นคำครับ หลักการค่อนข้างยืดหยุ่น แต่จะงงมากสำหรับนักเรียนไปรษณีย์ที่ต้องทำความเข้าใจ
ก็เป็นเรื่องของหลักภาษาไทย กับ ตามความเข้าใจของคนสอน
แต่เวลาคิดจริงๆ ก็นับตามคำคร่าวๆ คิดคำละ 1 บาท
โดยคิดราคากันตั้งแต่จ่าหน้า เนื้อหา จนถึงลงชื่อคนส่งเลย นับทุกเม็ด
ถ้าเป็นโทรเลขด่วนพิเศษ (โทรเลขธรรมดายังด่วนไม่พออีกเรอะ)
คิดเพิ่มเป็น 2 เท่า สถานะโทรเลขจะอัพเกรดเป็น Urgent ครับ
สามารถแซงคิวการส่งของชาวบ้านได้

ซึ่งบางคนอาจไม่ลงชื่อผู้ส่ง บางคนฉลาดก็จะเขียนจ่าหน้า
แบบไม่เขียนคำว่า ตำบล อำเภอ จังหวัด
รวมทั้งตัวย่อ ต. อ. จ. ด้วย เพราะรู้ว่าจะโดนคิดเงิน
ซึ่งก็ไม่ผิด แล้วก็ไม่มีปัญหาในการส่งแต่อย่างใด เขียน หนองคาย เฉยๆ ก็รู้อยู่แล้วว่า จ.หนองคาย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังอาจมีค่านำจ่ายพิเศษ เช่นในท้องที่ทุรกันดาร ต้องนั่งรถ ต่อเรือ บุกป่า ลุยน้ำไปส่งเป็นต้น
มีตั้งแต่ไม่กี่สิบบาท จนถึงหลายร้อยบาท ที่แพงสุดไม่แน่ใจว่าเป็นเกาะอะไรซักอย่าง ก็เป็นหลักพันบาทเลยครับ
บางท้องที่ ราคาแต่ละฤดูกาลก็ไม่เท่ากันอีก คือหน้าฝนก็จะแพงหน่อย
เพราะเข้าไปลำบาก มีต้นทุนเพิ่มอีก (จ้างคน จ้างเรือ ฯลฯ)

เช่นคุณจะส่งว่า “พ่อเสีย กลับด่วน” คิดเงินรวมจ่าหน้า กับลงชื่อแล้ว ค่าธรรมเนียม 20 บาท
เจอค่านำจ่ายพิเศษบวกอีกพันห้าก็อึ้งได้เหมือนกัน
ผมเคยโดนครั้งนึง ตอนจะส่งไป ต.วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
ต้องเพิ่ม 50 บาทก็ว่าแพงสุดๆ
รายละเอียดเพิ่มเติมไปขอดูได้ที่ไปรษณีย์ทั่วไปครับ มีหนังสือชื่อ “โทรเลขนิเทศ”
เค้าจะมีติดที่ทำการฯ ไว้ ขออ่านดูเล่นเพลินๆ ได้ครับ

แล้วทำไมถึงต้องคิดตามตัวอักษรครับ
เพราะสมัยก่อนการส่งโทรเลขต้องใช้เครื่องเคาะรหัสมอร์สครับ เข้าใจว่าว่าคงคิดตามรหัส
เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้และฝึกอบรม
นักเรียนไปรษณีย์รุ่นก่อนๆ จะเข้าใจรหัสมอร์สทุกคนครับ
แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว รวมทั้งโรงเรียน/นักเรียนไปรษณีย์ ก็ยกเลิกไปหมดแล้วครับ
น่าจะยังคงเหลือแต่ในหน่วยงานทหารมั้ง

แต่รหัสมอร์สยังมีประโยชน์นะครับ เกิดมนุษย์ดาวอังคารบุกถล่มโลก
อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ทุกอย่างเดี้ยงหมด เราก็จะได้กลับสู่สามัญ
นั่งเคาะรหัสมอร์สกันต๊อกๆ แต๊กๆ แบบในหนัง ID4 นั่นแหละ
หรือถ้าคุณถูกจับขังอยู่ในห้อง แล้วเผอิญมีไฟฉายหรืออุปกรณ์ส่องสว่าง
ก็ใช้หลักการรหัสมอร์สกระพริบไฟขอความช่วยเหลือแบบหนัง Panic Room ก็ได้…เอาเข้าไป..

แล้วมีหลักการส่งอย่างไรครับ
บอกไว้ข้างต้นแล้วนะครับ แต่ปัจจุบันอาจใช้โทรศัพท์ หรือวิทยุสื่อสาร ให้ทางฝั่งรับพิมพ์ตาม
หรือไม่ก็ใช้เครื่องส่งที่เป็นอุปกรณ์เฉพาะครับ ใช้คอมพิวเตอร์ส่งผ่านเครือข่ายเฉพาะอีกเหมือนกัน
สมัยที่เห็นยังเป็นโปรแกรมรันบนดอสครับ รุ่นเก่าหน่อยก็อาจจะเป็นเครื่องโทรพิมพ์
คือเวลาส่งก็จะพิมพ์เหมือนเครื่องพิมพ์ดีดนี่แหละ แต่เครื่องจะเจาะแถบกระดาษเป็นรหัสมอร์สให้ด้วย
กระดาษนั่นก็เป็นตัวบันทึกข้อความ เอามาส่งซ้ำได้อีกรอบโดยผ่านเครื่องอ่านกระดาษเจาะรูอีกที
สมัยที่เรียนแล้วเห็นครั้งแรกก็รู้สึกว่ามันน่าทึ่งจริงๆ เดี๋ยวนี้คงมีอยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์

แล้วเวลารับ ต้ัองไปรับที่ไปรษณีย์ หรือเค้ัามาส่งให้ที่บ้านครับ
เอามาส่งที่บ้านสิครับ นอกซะจากว่าไม่มีใครอยู่บ้านเลย เค้าก็จะออกใบแจ้งให้ไปรับเองที่ไปรษณีย์
คุณก็ต้องตามไปเอาเอง แต่ตามหลักการเค้าก็จะพยายามส่งให้ได้แหละครับ
อาจมาอีกรอบสองรอบแล้วแต่ความขยันของเจ้าหน้าที่ แปรผันตามความสนิทสนมกับผู้รับ
แปรผกผันกับค่าน้ำมันและระยะทาง

สมัยก่อนโทรเลขเป็นตัวแทนของข่าวร้ายซะส่วนใหญ่ ผมเคยให้เพื่อนส่งเล่นๆ มาให้ที่หอพัก
ทำเอาเจ้าของหอพักกับเพื่อนๆ แตกตื่นกันใหญ่ มาถามว่ามีเรื่องอะไรรึเปล่า
“อ๋อ..ให้เพื่อนส่งมาบอกว่างานกาชาดที่ต่างจังหวัดจะเริ่มวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้เฉยๆ ไม่อะไรครับ”

ด้วยเหตุนี้เค้าเลยพยายามส่งเสริมให้มีบริการที่เรียกว่า “โทรเลขไมตรีจิต”
ไว้สำหรับส่งคำอวยพรให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น วันเกิด ปีใหม่ สงกรานต์
รับปริญญา ฉลองตำแหน่งใหม่ ชนะเลือกตั้ง
แสดงความยินดีที่ได้รับเลือกเป็นกำนันก็มี อันนี้เคยเห็นจริงๆ กับตา ตอนอยู่ชลบุรี
แล้วก็จะมีซองที่มีลวดลาย สีสัน (ที่ไปรษณีย์คิดเองว่า) สวยงาม (คือมันหน้าตาโคตรเชยบรมเลยน่ะ)
ให้เลือกว่าจะให้ส่งโดยใส่ซองแบบไหนไปให้

ตอนนี้เค้าเลยเชิญชวนให้มาร่วมส่งท้ายโทรเลขที่ไปรษณีย์ทั่วประเทศตั้งแต่ 24-30 เม.ย. 2551 นี้ฟรี
แต่ยังไงก็คงไม่มีเสียง “ตะแล๊บแก๊บ” ให้ได้ยินอยู่ดีนั่นแหละ
ใครที่ไม่เคยใช้เลย ก็แนะนำให้ไปสัมผัสซักครั้งครับ

หอศิลป์ถวัลย์ ดัชนี

ใครที่ใช้งาน Twitter และ follow ผมอยู่คงจะเห็นผมบ่นแล้วว่ามานั่งทำงานที่ UIH มีความสุขเยี่ยงไร
อาทิเช่น เข้า blogspot, wordpress, exteen ไม่ได้เลย รวมทั้ง im ทุกยี่ห้อ
social network ทุกสำนัก รวมทั้ง twitter โอ้ว…เยี่ยม!?

โชคดีที่ยังเข้า gmail กับ google reader ได้อยู่ ทำให้ชีวิตไม่เลวร้ายเกินไปนัก
บล็อกตัวเองกับเมเจอร์ไบค์ยังได้อยู่เหมือนกัน ก็ไม่รู้เค้าจะตามมาบล็อคเมื่อไหร่
แต่ยังติดตาม twitter ได้จาก gtalk ในหน้าเว็บ gmail
่ส่วนพวกโปรแกรม twitter client ทั้งหลายนั้น ลืมได้เลยชั่วคราว

แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีเรื่องดีอยู่ ไม่นับเรื่องการแต่งตัวกับเวลาทำงานที่ค่อนข้างสบายๆ แล้ว
วิวบนชั้น 19 ของอาคารเบญจจินดานี่ก็สวยไม่เบาเชียวแหละ ใครๆ ก็คงชอบ
แต่ที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นคือ ตึกนี้มี “หอศิลป์ถวัลย์ ดัชนี” ครับ

ผมเริ่มตามอ่าน ตามดู ผลงานและบทสัมภาษณ์ของคุณถวัลย์ ดัชนีมาซักเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
เริ่มจากบทสัมภาษณ์ในงานเปิดตัวอะไรซักอย่าง ในหนังสือแนวศิลปะเล่มนึงที่จำชื่อไม่ได้แล้ว
มีภาพถ่ายตอนกำลังวาดรูปโชว์สดๆ กับบทสัมภาษณ์แสบทรวง แต่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันและหยิ่งอยู่ในที
ตั้งแต่นั้นมาผมก็รู้สึกนิยม “ช่างวาดรูป” (ตามที่เจ้าตัวเรียก) ท่านนี้มาก แล้วก็ติดใจ ชอบดูภาพวาดมาตลอด

ผมเป็นช่างวาดรูป เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องทำหน้าที่ของช่างวาดรูป คนจะดูหรือจะไม่ดูก็ไม่เกี่ยวกับผม
เพราะไม่ใช่กิจของนักวาดรูป ผมไม่เคยถามดวงดาวในห้วงเวหาว่าเปล่งแสงไปที่ไหน
ไม่เคยถามนกที่ร้องเพลงในอากาศว่าทำไมถึงร้องเพลง ผมไม่เคยถามถึงรสหวานที่มีอยู่ในกลีบดอกไม้ เพราะมันคือธรรมชาติ

คำให้สัมภาษณ์จากนิตยสาร POSITIONING

เมื่อ 3-4 ปีก่อนก็ได้มีโอกาสดูนิทรรศการ “ไตรสูรย์” (Trinity) ที่หอศิลป์ราชินีฯ ตรงสะพานผ่านฟ้า
thawan1thawan2
ภาพจากเว็บของหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

รวมทั้งได้ฟังปาฐกถา จริงๆ ผมว่าเหมือนทอล์คโชว์มากกว่า เพราะสนุกมาก ขำตลอด อ.ถวัลย์ก็โม้ไปสลับวาดรูปไป
คุ้มค่ามากที่ได้ไปดู ค่าเข้าหอศิลป์ก็แค่ 20 บาทเท่านั้นเอง เสียดายน่าจะอัดเทปไว้ เค้าไม่ยอมทำวีดีโอขายนะ
แต่เข้าใจว่าเขียนหนังสือราชการไปขอที่หอศิลป์ได้ เพราะเคยถามเจ้าหน้าที่ไว้ครั้งนึง

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณพิษณุ นิลกลัด ก็เพิ่งเขียนเชิญชวนให้มาดูที่นี่ลงในมติชนสุดสัปดาห์
ก็ตั้งใจว่าจะมาดูให้ได้ซักครั้ง แต่ก็ยังผัดวันประกันพรุ่งมาตลอด
จนอยู่ดีๆ ก็ได้มีโอกาสมาอยู่ที่นี่แบบไม่ได้ตั้งใจ ไม่ทันตั้งตัว จากที่เคยคิดไว้ว่าจะมาดูตั้งหลายปี
ในที่สุดก็ได้มาซะที

สมัยก่อนตอนที่เคยรู้ว่าตึกนี้มีผลงานเป็นแกลเลอรี่ส่วนตัวของเจ้าสัวบุญชัย เบญจรงคกุล ก็นึกว่าเป็นห้องภาพส่วนตัว
อยู่ในห้องพิเศษเฉพาะผู้บริหาร แต่เปล่าเลย…อยู่ที่ล็อบบี้ชั้นล่างนี่เอง ใครอยากมาดูก็มาแลกบัตรเข้าชมได้ฟรี
นอกจากจะมีภาพเขียนอันน่าตะลึงแล้วยังมีประติมากรรมสวยๆ เข้ามาก็จะได้เห็นรูปปั้นช้างทั้งด้านหน้าและด้านใน
ในตัวห้องภาพก็ยังมีหุ่นละครเล็ก งานฝีมืออื่นๆ ที่สวยมากอีกหลายอย่าง

ตอนนี้ทุกวัน กินข้าวเสร็จ ผมก็จะโอ้เอ้ ยังไม่เข้างาน ไปเดินเล่นดูภาพเขียนไปเรื่อยๆ
แต่ไม่รีบดูครับ ตั้งใจว่าจะละเลียดดูแค่วันละ 2-3 ภาพก็พอ จะได้ดูไปอีกนานๆ
แต่ละภาพดูแล้วมัน ดุดัน แข็งแรง และทรงพลังมาก…

นี่ไม่ได้เขียนไปเรื่อยนะครับ มันมีพลังจริงๆ ดูภาพเสือแล้วเหมือนเสือมันจะโดดออกมาขย้ำได้เลย
ผมต้องเพ่งให้ชัดใกล้ๆ ถึงมั่นใจว่ามันเป็นฝีแปรงบนผ้าใบผืนเรียบจริงๆ ไม่ได้เป็นเทคนิคภาพนูนต่ำสามมิติแต่อย่างใด
กล้ามเนื้อ เขี้ยว เล็บ แววตา แสงเงา สุดยอด…เสียดายที่ถ่ายรูปมาอวดไม่ได้ แต่ของหยั่งงี้ มันต้องมาดูเองครับ

การเดินทางมาก็สะดวกสบาย อาคารเบญจจินดา หรือตึก UCOM เก่า ก็อยู่ใกล้ๆ ม.เกษตรนี่เอง
นั่งรถเมล์มาจากแยกลาดพร้าว บนถนนวิภาวดี ก็จะอยู่เลยจากแยกเกษตร (วิภาวดีตัดกับงามวงศ์วาน)
ลงรถเมล์ป้ายแรกฝั่งวิภาวดีขาออก แล้วเดินข้ามทางรถไฟเข้ามาแลกบัตรได้ที่ตึก
ถ้าขับรถมาก็ต้องหาทางเข้าโลคัลโร้ดเอาเอง เข้าชมได้ฟรี ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็นครับ
เสียอย่างเดียวก็คือ เสาร์อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่เปิดครับ โทรติดต่อได้ที่ 0-2953-2288

ฝันเป็นจริงไปแล้วอีกอย่าง อันดับต่อไปต้องบุก “บ้านดำ” ที่เชียงรายของแกให้ได้ซักครั้ง

ปล.อ่านประวัติแกในวิกิพิเดีย เพิ่่งรู้ว่าเป็นเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่นกับ H.R.Giger ที่ออกแบบ Alien ด้วย
เป็นอีกคนนึงที่ชอบมากเหมือนกันเลย

Another success at House 2.0

นอกจากอดหลับอดนอน ซดเบียร์ เม้าท์มันส์ และเล่น Wii แล้ว
ผมก็ติดรูบิคไปด้วยอันนึง แถมบ้านเก่งก็มีเหมือนกัน ขนาดมาตรฐาน 3×3 สีดำ
กับแบบลูกเล็กเป็นพวงกุญแจ แต่ก็หมุนได้แม้จะฝืดไปนิด
ของเก่ง (ที่จริงคือของหนึ่งรึเปล่า) เป็นรูบิคยี่ห้อ Toys”R”Us
แต่ของผมเป็น DIY Fantasy Rubik
ซึ่งเทียบกันแล้วของผมแพงกว่านิดเดียว แต่ลื่นกว่ามากมาย และยืดหยุ่นกว่าด้วย
ถ่างแรงไปก็จะหลุดเป็นชิ้นได้ง่ายๆ
ใครสนใจก็ซื้อหาได้ที่ Fantasy Rubik ลูกนึงก็สี่ซ้าห้าร้อยบาท
ในนั้นมีรายละเอีดยพร้อมวิธีเล่นให้เสร็จสรรพ คนขายยังเรียนอยู่เลย
เจอกันโดยบังเอิญแถวบ้านนี่เอง บุญพาวาสนาส่งให้ได้เสียตังค์ซะจริงๆ

ตอนว่างๆ ก็เปิดดูวิธีเล่นในเว็บไป หมุนไปหมุนมา
คืนแรกก็พยายามจับทางให้ได้ว่าหมุนให้ได้เต็มหน้าแรกยังไงก่อน
พอเริ่มเข้าใจ ก็ทำไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สำเร็จ แล้วก็ไล่เก็บอีกสองลูกในบ้านเก่งด้วยหมดเลย
แรกๆ ก็ยังบิดตามสูตรสำเร็จไปก่อน ก็หวังว่าพอเข้าใจดีแล้ว
จะลองเขียนเป็นโจทย์ฝึกฝีมือด้วย ruby ดูซะหน่อย
rubik ruby แหมมันเข้ากั๊นเข้ากัน

อันนี้สถิติที่ทำได้เร็วสุดครับ บิดอย่างเร็วใช้เวลาประมาณ 50 วินาที 😛
rerngritPosted on 7 Comments on Another success at House 2.0

House 2.0 After Match

Gort! Klaatu barada nikto!

เรื่องมันเริ่มจาก molecularck เขียนชวนไว้เมื่อต้นเดือนให้ไปช่วยกันทำภาษาไทยให้ firefox 3
เราก็อยู่ว่างๆ ไม่ได้มีโปรแกรมไปไหน เลยตกลงไปร่วมด้วย เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก
จากที่ตั้งใจกันไว้ 3 วัน 2 คืน ก็กลายเป็น 5 วันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยหรือเบื่อหน่ายเลยซักนิด

ผมไปถึงบ่ายจัดๆ ของวันเสาร์ด้วยน้องดา ร้อนใช้ได้ ไ่ม่นานก็ถึงที่นัด
คือออฟฟิศ OpenDream ก็คอนโดของ keng นั่นแหละ
(มีสระว่ายน้ำด้วย แถมมุมมองจากห้องแจ๋วมาก เสียดายไม่ได้ลงไปว่าย ฝากไว้ก่อนเถอะ)
พอทุกคนทยอยมาสมทบก็เริ่มลุยกัน รายละเอียด การทำงาน ใครเป็นใคร
อ่านที่ blognone เลยดีกว่า (วันที่ 1, วันที่ 2 และ 3 โดย molecularck)

คืนแรกสนุกกันมาก แปลกันไป ถกกันไป คำก็มีทั้งง่ายทั้งยาก
ทั้งคำที่เลือกไม่ถูกว่าจะแปลยังไงดีให้เก็บความได้หมด
มี mk กับคุณ pruet ออนไลน์คุยกันสดๆ
ผ่าน iChat จากอังกฤษกับอเมริกาด้วย แถมยังแอบถ่ายทอดสดใน ustream.tv เป็นพักๆ
รวมทั้งหาคนช่วยแปลเพิ่มบางคำใน twitter ดังนั้นคนที่ไม่ได้มาก็ช่วยกันได้

รูปบรรยากาศการทำงานทั้งหมด อยู่ใน flickr ของเก่ง เชิญคลิก –> House 2.0

อุปสรรคก็มีนิดหน่อย เพราะพวกเราไม่มีใครใช้วินโดวส์เลย ต้องผ่านไปอีกวันถึงจะไปหาเครื่องมาเทสต์ได้
เก่งบอกว่าเหมือนตอน BugAThon ดีที่มีคุณกำธรใช้โปรแกรม VirtualBox เลยลงวินโดวส์มาช่วย

งานนี้ (ที่จริงจะเรียกว่าปาร์ตี้เบียร์ กับเล่นเกม Wii ก็ไม่ผิด)

แต่ผมได้ “อะไร” เยอะมากทั้งประสบการณ์ และจากผู้คนที่เคยแต่คุยกันผ่านหน้าจอ

ที่น่าสนใจคือการพูดคุยกันในคืนสุดท้ายของพวกเรา ว่าจะทำยังไงให้กิจกรรมหรือชุมชนแบบนี้
ีมีขึ้นอีก ทั้งพวกเราเอง หรือคนอื่นๆ และทำให้มันยั่งยืน
การได้เสวนากับเหล่าคนหนุ่มสาวไฟแรงและมี passion มีใจรัก กระหาย อยากจะทำอะไรให้สังคม
ทำให้ผมเข้าใจแล้วที่ อ.ธวัชชัยเขียนชมทั้งเก่งและหนึ่งไว้ในการประชุมที่ TRN คราวก่อน
รวมทั้งคนอื่นๆ ที่ได้ร่วมชายคากันมาตลอดสี่ห้าวัน ทำให้สงกรานต์ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของผมเลยครับ

อยากให้มีคนแบบนี้ในสังคมอีกเยอะๆ จัง ~~

กลับถึงบ้านเกือบเจ็ดโมงเช้าของวันพุธที่ 16 นอนต่ออีกครึ่งวัน หลังจากที่ไม่ได้นอนมาทั้งคืน…

งานแปลยังคงทำกันอยู่ ใครสนใจลองเข้าไป join group ดูได้ที่
Thai Localization Group กับ Google Code Thai-l10n

Gort! Klaatu barada nikto!

อัพเดท : มาชวนไปอ่านมุมมองเจ้าของบ้าน What I’ve learnt from House 2.0

My History

เห็นพี่ป๊อกชวนให้เอามาโชว์กัน

rerngs-ibook-g4:~ rerng$ history|awk ‘{a[$2]++} END{for(i in a){printf “%5d\t%s\n”,a[i],i}}’|sort -rn|head
87 vi
77 cd
73 ls
42 exit
16 ping
12 sudo
11 ./jdev
9 tar
9 script/server
8 ssh

แอบงงว่าเราใช้ vi บ่อยที่สุดเลยเหรอเนี่ย – -”
ส่วนพฤติกรรมใช้ cd แล้วต่อด้วย ls รู้สึกจะเป็นกันหลายคน (keng, mk) 😉