อ่านข่าวที่ว่า รมว.ไอซีทีย้ำปิดโทรเลขแน่นอน 1 พ.ค.2551 นี้
แล้วเห็นใน twitter มีคนบอกว่าเกิดมายังไม่เคยใช้โทรเลขเลย
ผมจึงไปขุดคุ้ยหากระทู้เก่าแก่ที่เคยโพสตอบไว้ที่พันทิป โต๊ะหว้ากอ ตั้งแต่กลางปี 2548
พอดีเป็นพวกขี้งก เกิดความเสียดายที่เห็นว่าตอบไว้ยืดยาว เลยเซฟเก็บไว้ ขอเอามาฉายซ้ำ
ตอนนั้นมีคนมาถามว่า
ปัจจุบัน โทรเลข ยังมีใช้แพร่หลายไหมครับ แล้วอยากทราบว่า เค้าคิดเงินยังไงหรือครับ
ตามตัวอักษรหรือครับ แล้วทำไมถึงต้องคิดตามตัวอักษรครับ แล้วมีหลักการส่งอย่างไรครับ
แล้วเวลารับ ต้องไปรับที่ไปรษณีย์ หรือเค้ามาส่งให้ที่บ้านครับ
แล้วการติดต่อแบบไหนถึงควรจะใช้โทรเลขครับ
ขอบพระคุณครับ (ถามเยอะไปหน่อย ขออภัยนะครับ)
จากคุณ : SukRamRuay – [ 7 มิ.ย. 48 13:29:18 ]
ก็เลยเอาความรู้เก่าไปตอบไว้ เพราะสมัยหนุ่มๆ ก็คลุกคลีกับ กสท. อยู่หลายปี
แต่ กสท. ก็แปรรูปเป็น บ.ไปรษณีย์ไทย กับ บ.กสท.โทรคมนาคมมา 5-6 ปีแล้ว
ข้อมูลเรื่องค่าธรรมเนียมก็คงเปลี่ยนไปหมด
โทรเลข ยังมีใช้แพร่หลายไหมครับ
ปัจจุบัน (กลางปี 2548) โทรเลขไม่แพร่หลายแล้ว
เมื่อก่อนลูกค้าสำคัญที่ใช้บริการโทรเลขกับไปรษณีย์ก็คือ
ธนาคารครับ เวลาปิดงบบัญชี ต้องส่งยอดให้สำนักงานใหญ่ และต้องระวังมากๆ
ตัวเลขห้ามผิดพลาดเลย เวลาพิมพ์โทรเลขเสร็จ ต้องมี “ทาน” อีกบรรทัดนึงไว้ข้างท้าย
แต่พอธนาคารมีระบบออนไลน์ใช้เอง โทรเลขก็ค่อยๆ ตายไป
ที่ยังพอเห็นอยู่ก็จะเป็นสถาบันการเงินอื่นๆ หรือบริษัทสินเชื่อ ใช้ส่งให้ลูกค้าทราบเพื่อแจ้งให้ชำระหนี้
หรือแจ้งให้ทราบว่าจะดำเนินคดีแล้วนะ โทษฐานที่ผิดนัดชำระ หรือเจตนาหนีหนี้
ซึ่งก็เพื่อเป็นการรับประกันเบื้องต้น ว่าลูกหนี้รับทราบแล้ว
เพราะโทรเลขสำคัญมาก บุรุษไปรษณีย์จะทำเหลวไหลไม่ได้ โอกาสที่ผู้รับไม่ได้รับก็จะน้อยมาก
เค้าคิดเงินยังไงหรือครับ ตามตัวอักษรหรือครับ แล้วทำไมถึงต้องคิดตามตัวอักษรครับ
คิดเป็นคำครับ หลักการค่อนข้างยืดหยุ่น แต่จะงงมากสำหรับนักเรียนไปรษณีย์ที่ต้องทำความเข้าใจ
ก็เป็นเรื่องของหลักภาษาไทย กับ ตามความเข้าใจของคนสอน
แต่เวลาคิดจริงๆ ก็นับตามคำคร่าวๆ คิดคำละ 1 บาท
โดยคิดราคากันตั้งแต่จ่าหน้า เนื้อหา จนถึงลงชื่อคนส่งเลย นับทุกเม็ด
ถ้าเป็นโทรเลขด่วนพิเศษ (โทรเลขธรรมดายังด่วนไม่พออีกเรอะ)
คิดเพิ่มเป็น 2 เท่า สถานะโทรเลขจะอัพเกรดเป็น Urgent ครับ
สามารถแซงคิวการส่งของชาวบ้านได้
ซึ่งบางคนอาจไม่ลงชื่อผู้ส่ง บางคนฉลาดก็จะเขียนจ่าหน้า
แบบไม่เขียนคำว่า ตำบล อำเภอ จังหวัด
รวมทั้งตัวย่อ ต. อ. จ. ด้วย เพราะรู้ว่าจะโดนคิดเงิน
ซึ่งก็ไม่ผิด แล้วก็ไม่มีปัญหาในการส่งแต่อย่างใด เขียน หนองคาย เฉยๆ ก็รู้อยู่แล้วว่า จ.หนองคาย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังอาจมีค่านำจ่ายพิเศษ เช่นในท้องที่ทุรกันดาร ต้องนั่งรถ ต่อเรือ บุกป่า ลุยน้ำไปส่งเป็นต้น
มีตั้งแต่ไม่กี่สิบบาท จนถึงหลายร้อยบาท ที่แพงสุดไม่แน่ใจว่าเป็นเกาะอะไรซักอย่าง ก็เป็นหลักพันบาทเลยครับ
บางท้องที่ ราคาแต่ละฤดูกาลก็ไม่เท่ากันอีก คือหน้าฝนก็จะแพงหน่อย
เพราะเข้าไปลำบาก มีต้นทุนเพิ่มอีก (จ้างคน จ้างเรือ ฯลฯ)
เช่นคุณจะส่งว่า “พ่อเสีย กลับด่วน” คิดเงินรวมจ่าหน้า กับลงชื่อแล้ว ค่าธรรมเนียม 20 บาท
เจอค่านำจ่ายพิเศษบวกอีกพันห้าก็อึ้งได้เหมือนกัน
ผมเคยโดนครั้งนึง ตอนจะส่งไป ต.วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
ต้องเพิ่ม 50 บาทก็ว่าแพงสุดๆ
รายละเอียดเพิ่มเติมไปขอดูได้ที่ไปรษณีย์ทั่วไปครับ มีหนังสือชื่อ “โทรเลขนิเทศ”
เค้าจะมีติดที่ทำการฯ ไว้ ขออ่านดูเล่นเพลินๆ ได้ครับ
แล้วทำไมถึงต้องคิดตามตัวอักษรครับ
เพราะสมัยก่อนการส่งโทรเลขต้องใช้เครื่องเคาะรหัสมอร์สครับ เข้าใจว่าว่าคงคิดตามรหัส
เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้และฝึกอบรม
นักเรียนไปรษณีย์รุ่นก่อนๆ จะเข้าใจรหัสมอร์สทุกคนครับ
แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว รวมทั้งโรงเรียน/นักเรียนไปรษณีย์ ก็ยกเลิกไปหมดแล้วครับ
น่าจะยังคงเหลือแต่ในหน่วยงานทหารมั้ง
แต่รหัสมอร์สยังมีประโยชน์นะครับ เกิดมนุษย์ดาวอังคารบุกถล่มโลก
อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ทุกอย่างเดี้ยงหมด เราก็จะได้กลับสู่สามัญ
นั่งเคาะรหัสมอร์สกันต๊อกๆ แต๊กๆ แบบในหนัง ID4 นั่นแหละ
หรือถ้าคุณถูกจับขังอยู่ในห้อง แล้วเผอิญมีไฟฉายหรืออุปกรณ์ส่องสว่าง
ก็ใช้หลักการรหัสมอร์สกระพริบไฟขอความช่วยเหลือแบบหนัง Panic Room ก็ได้…เอาเข้าไป..
แล้วมีหลักการส่งอย่างไรครับ
บอกไว้ข้างต้นแล้วนะครับ แต่ปัจจุบันอาจใช้โทรศัพท์ หรือวิทยุสื่อสาร ให้ทางฝั่งรับพิมพ์ตาม
หรือไม่ก็ใช้เครื่องส่งที่เป็นอุปกรณ์เฉพาะครับ ใช้คอมพิวเตอร์ส่งผ่านเครือข่ายเฉพาะอีกเหมือนกัน
สมัยที่เห็นยังเป็นโปรแกรมรันบนดอสครับ รุ่นเก่าหน่อยก็อาจจะเป็นเครื่องโทรพิมพ์
คือเวลาส่งก็จะพิมพ์เหมือนเครื่องพิมพ์ดีดนี่แหละ แต่เครื่องจะเจาะแถบกระดาษเป็นรหัสมอร์สให้ด้วย
กระดาษนั่นก็เป็นตัวบันทึกข้อความ เอามาส่งซ้ำได้อีกรอบโดยผ่านเครื่องอ่านกระดาษเจาะรูอีกที
สมัยที่เรียนแล้วเห็นครั้งแรกก็รู้สึกว่ามันน่าทึ่งจริงๆ เดี๋ยวนี้คงมีอยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์
แล้วเวลารับ ต้ัองไปรับที่ไปรษณีย์ หรือเค้ัามาส่งให้ที่บ้านครับ
เอามาส่งที่บ้านสิครับ นอกซะจากว่าไม่มีใครอยู่บ้านเลย เค้าก็จะออกใบแจ้งให้ไปรับเองที่ไปรษณีย์
คุณก็ต้องตามไปเอาเอง แต่ตามหลักการเค้าก็จะพยายามส่งให้ได้แหละครับ
อาจมาอีกรอบสองรอบแล้วแต่ความขยันของเจ้าหน้าที่ แปรผันตามความสนิทสนมกับผู้รับ
แปรผกผันกับค่าน้ำมันและระยะทาง
สมัยก่อนโทรเลขเป็นตัวแทนของข่าวร้ายซะส่วนใหญ่ ผมเคยให้เพื่อนส่งเล่นๆ มาให้ที่หอพัก
ทำเอาเจ้าของหอพักกับเพื่อนๆ แตกตื่นกันใหญ่ มาถามว่ามีเรื่องอะไรรึเปล่า
“อ๋อ..ให้เพื่อนส่งมาบอกว่างานกาชาดที่ต่างจังหวัดจะเริ่มวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้เฉยๆ ไม่อะไรครับ”
ด้วยเหตุนี้เค้าเลยพยายามส่งเสริมให้มีบริการที่เรียกว่า “โทรเลขไมตรีจิต”
ไว้สำหรับส่งคำอวยพรให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น วันเกิด ปีใหม่ สงกรานต์
รับปริญญา ฉลองตำแหน่งใหม่ ชนะเลือกตั้ง
แสดงความยินดีที่ได้รับเลือกเป็นกำนันก็มี อันนี้เคยเห็นจริงๆ กับตา ตอนอยู่ชลบุรี
แล้วก็จะมีซองที่มีลวดลาย สีสัน (ที่ไปรษณีย์คิดเองว่า) สวยงาม (คือมันหน้าตาโคตรเชยบรมเลยน่ะ)
ให้เลือกว่าจะให้ส่งโดยใส่ซองแบบไหนไปให้
ตอนนี้เค้าเลยเชิญชวนให้มาร่วมส่งท้ายโทรเลขที่ไปรษณีย์ทั่วประเทศตั้งแต่ 24-30 เม.ย. 2551 นี้ฟรี
แต่ยังไงก็คงไม่มีเสียง “ตะแล๊บแก๊บ” ให้ได้ยินอยู่ดีนั่นแหละ
ใครที่ไม่เคยใช้เลย ก็แนะนำให้ไปสัมผัสซักครั้งครับ