อ่านบทความนี้ของคุณวินทร์ เลียววาริณแล้วสะท้อนใจดี ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะชอบส่งไปให้ชาวบ้านอ่าน แต่รู้สึกว่าหลายๆ คน
หรือบางครั้งเราเองก็ขี้เกียจอ่านอะไรยาวๆ ในชีวิตที่รีบเร่งแบบนี้
ตัวอย่างที่เค้ายกมาอย่างเรื่องแซงคิวเข้ารถไฟฟ้า เข้าลิฟท์แล้วรีบปิดประตู เราก็เห็นจนชินตา
แต่เป็นเพราะความชินตา หรือเพราะเราชอบประณีประณอม ทำให้พยายามคิดว่า เค้าอาจมีความจำเป็นจริงๆ จึงต้องทำแบบนั้น
หรือเป็นเพราะเราไม่กล้าแสดงออกที่จะรักษาสิทธิ ที่ร้ายที่สุดก็คือทำให้เราคิดว่า เค้าทำได้ เราก็ทำบ้าง
เราก็ใกล้จะกลายเป็นหมาแย่งก้อนเนื้อกันชัดเจนเข้าไปทุกที ตอนนี้ผมชักไม่มั่นใจแล้วว่า ถ้าเกิดเราเป็นหมาตัวนั้นในนิทานอีสป
จะอดใจไม่กระโจนไปแย่งเนื้อเงาของหมาในน้ำที่มองเห็นได้หรือเปล่า
ไม่แปลกใจที่ New Year’s Resolution ของคนรู้จักและคนอื่นๆ (ที่มีลิงก์เชื่อมไปในนั้น)
จะมีเรื่องใจเย็น ตั้งสติ หรือไม่ก็สมาธิอยู่ด้วยเสมอ (ถึงแม้อันดับหนึ่งจะยังเป็นเรื่องลดน้ำหนักก็ตาม ฮา…)
มีอีกคนนึงที่เมื่อก่อนก็จะตามอ่านประจำ ถ้าคนที่สนิทกันก็จะรู้ว่าผมยกคุณประภาส ชลศรานนท์เป็นไอดอลคนนึง
เดี๋ยวนี้ดูเหมือนเค้าจะเลิกเขียนคอลัมน์คุยกับประภาสลงในมติชนวันอาทิตย์แล้ว แถมที่มติชนก็ไม่ให้อ่านย้อนหลังแบบออนไลน์แล้วด้วย
แต่ก็ยังมีรวมเล่มกับเวิร์คพอยน์สำนักพิมพ์อยู่
กลับมาที่คุณวินทร์ ผมรู้จักเค้าครั้งแรกใน ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ตอนซื้อไม่ได้คิดอะไร เห็นว่าเป็นซีไรต์ก็หยิบๆ มาก่อนเลย
จำได้ว่าเป็นช่วงเพิ่งเริ่มทำงาน ยังไม่มีทีวี เลยอ่านแต่หนังสือทุกวัน ชอบเพราะอ่านแล้วรู้สึกเหมือนดูหนังยังไงยังงั้น
อีกสองปีต่อมา สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ก็ได้ซีไรต์อีก คุณวินทร์เลยขึ้นแท่นได้ซีไรต์สองครั้งเท่ากับคุณชาติ กอบจิตติ
หลายคนก็คงเป็นเหมือนกันคือถ้าประทับใจงานของนักเขียนคนไหน ก็ต้องไปหางานอื่นๆ ของเค้ามาลองอ่านด้วย
สุดท้ายก็กลายเป็นลูกค้าที่ดีไปในที่สุด ยิ่งตอนนี้ เสี่ยวนักสืบ พุ่มรัก พานสิงห์ ก็กลับมาโลดแล่นต่อในมติชนสุดสัปดาห์แล้วด้วย
แฟนๆ ก็เตรียมตัวติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลันตามสำนวน บก.เค้าได้เลย
ดีใจที่แม้จะเข้าไปดูเฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง แล้วก็ได้เจอบทความดีๆ แบบนี้เรื่อยๆ
ถือว่าเป็นการแนะนำแหล่งบทความดีๆ อีกอันนึงไปก็แล้วกันนะ บางทีไปเจอใน fwd mail ส่วนใหญ่ที่ไร้จรรยาบรรณ
แบบไม่ยอมบอกแหล่งที่มา จะได้รู้ว่าต้นฉบับอยู่ที่นี่